วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บาลีโคก สัทธรรมปฏิรูป วัดนาป่าพง โดยพระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

บาลีโคก เป็นศัพท์แสลงที่ชาวผู้ศึกษาบาลีใช้เรียกบุคคลที่ทำภาษาบาลีให้ผิดเพี้ยน ให้วิบัติ อย่างท่านคึกฤทธิ์ ซึ่งบังอาจกล่าวจาบจ้วงการเรียนบาลีว่าเรียนผิด โดยที่ตนไม่มีความรู้เลยแม้แต่ปลายฝุ่นติดเล็บนิ้วเท้า



ท่านคึกฤทธิ์แปลเข้าไปได้อย่างไร สกิเทว แปลว่า เทวดาคราวเดียว หนำซ้ำยังสอนญาติโยมผิดๆ ว่า เทว แปลว่า เทวดา เห็นคำนี้เมื่อไหร่ ต้องแปลว่า เทวดา ห้ามแปลเป็นอย่างอื่น  แล้ว โสกปริเทว  ท่านจะแปลว่าอย่างไร  เทวดาเศร้าโศก, เทวดาเศร้ารอบต้นโศก,  เทวดารอบๆ ต้นโศกเศร้า, เทวดาแห้งรอบๆ หรือ และจะมิทำให้ความหมายของพุทธวจนะ ผิดไปจากพุทธประสงค์ที่ทรงแสดงทุกขอริยสัจหรือ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน
แม้ชาติก็เป็นทุกข์   แม้ชราก็เป็นทุกข์    แม้มรณะก็เป็นทุกข์    แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นทุกข์    ความประจวบ กับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์    ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์    ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์   โดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์.

เพราะเหตุนี้ การเรียนภาษาบาลีจึงต้องมีแบบแผน จึงจะทำให้ทั้งโลกนี้ แปล โสกปริเทว ตรงกันหมด เพื่อรักษาคำพระศาสดาให้ตรงกัน  เหมือนการท่องสูตรคูณที่ต้องตรงกัน

ถึงวันนี้ ยังไม่ได้ยินคำขอโทษสังคมจากท่านคึกฤทธิ์แม้แต่คำเดียว 

บทความนี้ ขออนุญาตนำความรู้จากท่านอาจารย์นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย  มาแบ่งปันให้ทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้ได้พิจารณา

ความเขลาของบัณฑิต
------------------------
มีผู้นำคำบรรยายของพระคุณเจ้าท่านหนึ่งมาเสนอ เป็นรื่องเกี่ยวกับการแปลคำบาลี
ผมฟังตลอดแล้ว ใคร่ขอแสดงความคิดเห็นดังต่อไปนี้
สำหรับท่านที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาบาลี อาจจะมองไม่เห็นถนัดว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร ดังที่มีผู้แสดงความเห็นทำนองว่าทำไมจะต้องเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่คำคำเดียวมาวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่โต
สำหรับท่านที่มีความรู้ภาษาบาลี แต่ยังเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ต้องนับว่าน่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
-------------
ข้อควรทำความเข้าใจเป็นพื้นฐาน-มิเช่นนั้นจะไม่รู้เรื่อง-มีดังนี้
๑ ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ท่านเลือกใช้บันทึกพระไตรปิฎกคือประมวลคำสอนในพระพุทธศาสนา ถ้าแปลผิดก็จะเป็นทางมาแห่งความเข้าใจผิด
ถ้าเข้าใจคำสอนผิด ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะแนวคิดและการปฏิบัติก็จะผิดตามไปด้วย
กรุณาอย่ายกเอาความเห็นผิดปฏิบัติผิดอันมีมาจากเหตุอื่นๆ ซึ่งมีอยู่แล้วมากมายขึ้นมาคาน (ทีเรื่องนั้นล่ะ ทีเรื่องโน้นล่ะ ทำไมไม่เห็น....) เพราะนั่นเท่ากับยอมให้ความเห็นผิดปฏิบัติผิดเพิ่มจำนวนขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง
ใครรู้ว่ามีความเห็นผิดปฏิบัติผิดเกิดขึ้นที่ไหนก็ควรช่วยกันป้องกันและแก้ไข ไม่ใช่ช่วยกันยอมรับ หรือยอมปล่อยให้คงอยู่

๒ ภาษาบาลีเป็นภาษาตระกูลเดียวกับภาษาอังกฤษ (Indo-European languages) คำแสดงหลักสั้นๆ ก็คือ “ภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย” ตัวอย่างเช่นคำว่า เทว (เท-วะ = เทวดา) ยังไม่ได้ประกอบวิภัตติปัจจัยก็เอาไปใช้ไม่ได้ เรียกว่าเป็น “ศัพท์ดิบ” เหมือนอาหารที่ยังไม่ได้ปรุงให้สุกยังรับประทานไม่ได้ฉะนั้น
เทว” ถ้าเป็นประธานในประโยค เปลี่ยนรูปเป็น “เทโว” 
ถ้าเทวดามากกว่าหนึ่งองค์ คือเป็นพหูพจน์ ก็เปลี่ยนรูปเป็น “เทวา” 
แต่ถ้าเป็นกรรมในประโยค เปลี่ยนรูปเป็น “เทวํ” (เท-วัง) 
ถ้าเป็นพหูพจน์ ก็เปลี่ยนรูปเป็น “เทเว” 
ถ้าต้องการให้เป็นคำทักทาย คือแปลว่า “ดูก่อนท่านเทวดา” รูปก็จะเป็น “เทว” (เท-วะ) เหมือนเมื่อยังเป็นศัพท์ดิบ 
อย่างนี้เป็นต้น  จึงขึ้นอยู่กับว่าจะต้องการให้คำไหนมีความหมายว่าอย่างไรหรือจะให้ทำหน้าที่อะไรในประโยค

๓ การเปลี่ยนรูปของคำต่างๆ ย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่รัดกุม ต้องเรียนจึงรู้ เดาเอาไม่ได้

๔ นอกจากนี้ยังมีกฎการตรวจสอบคำทุกคำที่เอามาใช้ในประโยคเพื่อพิสูจน์ว่าแต่ละคำมาอยู่ตรงนั้นทำไม มาทำหน้าที่อะไร และเกี่ยวข้องกับคำอื่นๆในฐานะอย่างไร หลักวิชานี้เรียกว่า “วากยสัมพันธ์”

เช่นไปเห็นคำว่า “เทว” อยู่ในประโยค หลักวากยสัมพันธ์จะบอกได้ทันทีว่า “เทว” ในที่นี้ทำหน้าที่เป็นคำทักทาย คือต้องแปลว่า “ดูก่อนท่านเทวดา” จะแปลว่า “เป็นเทวดา” หรือ “ผู้เป็นเทวดา” ไม่ได้ เพราะรูปคำบังคับไว้
วิชา “วากยสัมพันธ์” เป็นวิชาบังคับที่นักเรียนบาลีต้องเรียนและต้องสอบผ่าน จึงจะมีสิทธิ์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ “พระมหา” หรือเป็น “เปรียญ”
ในภาษาไทยก็เคยมีเรียนวิชาวากยสัมพันธ์ แต่ปัจจุบันนี้เข้าใจว่าเลิกเรียนกันไปแล้ว เด็กรุ่นใหม่ส่วนมากจึงเขียนเรียงความไม่เป็นภาษา เพราะไม่รู้ว่าจะเอาคำอะไรมาเรียงกันให้คำไหนทำหน้าที่อะไรในประโยค
----------
เมื่อพอเข้าใจหลักพื้นฐานดังว่ามานี้แล้ว ต่อไปก็มาดูของจริง คือข้อความจริงๆ ที่พระคุณท่านยกขึ้นแสดงความเห็น
ข้อความเต็มๆ เป็นดังนี้ -
ติณฺณํ สญฺโญชนานํ ปริกฺขยา ราคโทสโมหานํ ตนุตฺตา 
สกทาคามี โหติ สกิเทว อิมํ โลกํ อาคนฺตฺวา ทุกฺขสฺสนฺตํ กโรติ.
ที่มาของข้อความนี้ก็คือ มหาลิสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๒๕๑ และเป็นพุทธวจนะ คือคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเอง (ข้อความเช่นนี้มีในที่อื่นๆ ในพระไตรปิฎกอีกด้วย)
พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า -
ภิกษุเป็นสกทาคามี มาสู่โลกนี้เพียงอีกครั้งเดียวจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสัญโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบางไป”
แปลทีละคำดังนี้ -
สกทาคามี = ภิกษุผู้เป็นสกทาคามี
อิมํ โลกํ อาคนฺตฺวา = มาสู่โลกนี้
สกิเทว = เพียงอีกครั้งเดียว
ทุกฺขสฺสนฺตํ กโรติ = จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ติณฺณํ สญฺโญชนานํ ปริกฺขยา = เพราะสัญโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป
ราคโทสโมหานํ ตนุตฺตา = เพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบางไป
ข้อความที่พระคุณท่านยกมาแปล ท่านตัดมาเฉพาะ - 
สกทาคามี โหติ สกิเทว อิมํ โลกํ อาคนฺตฺวา
คำแปลตามความเห็นของพระคุณท่านที่ปรากฏในเอกสารประกอบคำบรรยายเป็นดังนี้ -
สกทาคามี = ผู้มาถึงคราวเดียว
โหติ = มี, เป็น
สกิเทว = เทวดาคราวเดียว
อิมํ = นี้
โลกํ = โลก (มนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง พรหมบ้าง)
อาคนฺตฺวา = ผู้มาเยือน
------------
เสียงในคำบรรยายความตอนนี้ถอดออกมาได้ดังนี้ -
.............
เอาคีย์เวิร์ดที่ตรงกันมาดู เช็คแต่ละตัวเลย ก็จะได้อย่างนี้
สกทาคามี ผู้มาถึงคราวเดียว
โหติ มีหรือเป็น
แต่คราวเดียวนี่ คือโลกไหน
อิมํ นี้
โลกํ โลก 
โลกก็ยังเป็นข้อสงสัย
อาคนฺตฺวา แปลว่า ผู้มาเยือน
สกิเทว มันแยกเป็น ๒ คำ
สกิ สกึ แปลว่า หนเดียว คราวเดียว
เทว คือเทวดา แปลอย่างอื่นไม่ได้
มีเขียน เทว แต่ถ้ามีจุดใต้ ท ทหาร จะอ่านว่า ดะเว แปลว่า สอง
คำนี้ใช้กันอยู่เยอะแยะ
ทั้ง ๒๒ พระสูตรไม่มีคำที่มีจุดใต้ ท ทหาร คือ เทฺว (ดะเว) เลย
เทว (เทวะ) ทั้งหมด เพราะฉะนั้นแปลอย่างอื่นไม่ได้ 
เขียนคำนี้ไม่มีแปลอย่างอื่น เทวดาได้อย่างเดียวเท่านั้น
สกิเทว จึงแปลว่า เทวดาคราวเดียว
แต่คำนี้ไม่ได้ถูกแปลเข้าไว้ ถ้าถูกใส่เข้าไว้พระสูตรก็จะไม่ขัดกัน สอดรับกันทั้งหมด คือมาถึงโลกนี้คราวเดียว คือโลกอะไร 
เทวดาคราวเดียว ผู้มาเยือนโลกนี้ คือเทวดาคราวเดียว ก็คือเป็นผู้มาถึงคราวเดียว
เทวดา ไม่ใช่โลกมนุษย์
เพราะฉะนั้น อันนี้ก็ผิดกันทั่วประเทศเหมือนกัน เพราะตำรามันเป็นอรรถกถาทั้งหมด
นี่มันเป็นปัญหาอย่างนี้

เจาะกันที่คำว่า สกิเทว ก่อน เพราะเป็นคำเด่นที่ถูกยกขึ้นวิจารณ์
คำนี้มี ๒ คำ ถูกต้อง
แต่ไม่ใช่ สกิ (สะกิ) หรือ สกึ (สะกิง) + เทว อย่างที่พระคุณท่านเข้าใจ
ถ้าเป็น สกึ + เทว อย่างที่ท่านแปล สกิเทว = เทวดาคราวเดียว เทว จะต้องเป็น เทโว ตามกฎการประกอบวิภัตติปัจจัยดังกล่าวข้างต้น
ถ้ารูปศัพ์เป็น “สกิเทว” และจะเข็นให้แปลว่า “เทวดา” ให้จงได้ ก็จะต้องแปลศัพท์นี้ให้เป็นคำทักทาย คือต้องแปลว่า “ดูก่อนท่านเทวดา-” ความหมายก็จะกลายเป็นว่า พระพุทธเจ้ากำลังตรัสอยู่กับเทวดา
แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้พระพุทธองค์ตรัสกับผู้อื่น ไม่ได้ตรัสกับเทวดา จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมีคำว่า “ดูก่อนท่านเทวดา-” มาอยู่ตรงนี้ และไม่มีเทวดาอะไรมาเกี่ยวข้องด้วยเลย “สกิเทว” จึงไม่ใช่คำทักเทวดาตามรูปศัพท์ที่พระคุณท่านบังคับให้ “เทว” หมายถึงเทวดา
ถ้าเช่นนั้น “สกิเทว” ไปอย่างไรมาอย่างไร ?
สกิเทว” เป็นรูปคำสนธิระหว่าง สกึ (สะ-กิง) + เอว (เอวะ)
สองคำนี้ไปดูคำแปลจากพจนานุกรมฉบับไหนก็ได้ จะตรงกันหมด
สกึ” แปลว่า “ครั้งเดียว” หรือ “คราวเดียว” = once
เอว” แปลว่า “นั่นเทียว” “เท่านั้น” นั่นแหละ” = only 
เป็นคำประเภทที่ไม่เปลี่ยนรูป คือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัยเป็น เอโว เอวา เอวํ เอเว เหมือน เทว
เอว เป็น เทว ไม่ใช่เกิดจากการเปลี่ยนรูปด้วยวิภัตติปัจจัย แต่เกิดจากการกลายเสียงเมื่อคำสองคำมาเชื่อมกัน
ถ้าอ้างสูตรก็ว่า “แปลงนิคหิตเป็น ท”
นิคหิตก็คือ “อํ” สกิ + อํ = สกึ 
แปลง อํ ที่ สกึ เป็น ท ก็คือ สกึ = สกิท (สกึ หายไป กลายเป็น สกิ-)
สกิท + เอว = สกิเทว (เอ- มีแต่เสียง ไม่มีรูป อ อ่าง = เ-ว)
สกิเทว จึงแปลว่า “ครั้งเดียวเท่านั้น” = once only
ไม่มี “เทวดา” อะไรอยู่ในคำนี้
ถ้าไปดู “สกิเทว” ที่ใช้ในข้อความอื่นจะเข้าใจทันที เช่น -
เอวํ โข อหํ มหาราช อภิชานามิ วาจํ ภาสิตา นตฺถิ โส 
สมโณ วา พฺราหฺมโณ วา โย สกิเทว สพฺพํ ญสฺสติ สพฺพํ 
ทกฺขติ เนตํ ฐานํ วิชฺชตีติ ฯ
(มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ๑๓/๕๗๕)
ข้อความนี้พระพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็เป็น “พระพุทธวจนะ” เช่นเดียวกัน
ข้อความนี้มีคำว่า “สกิเทว” เหมือนกัน และเป็นศัพท์เดียวกันกับในข้อความที่พระคุณท่านยืนยันว่าต้องแปลว่า “เทวดาคราวเดียว” แปลอย่างอื่นไม่ได้
ความข้อนี้แปลว่า ...
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้นไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้”
ความหมายของพระพุทธวจนะนี้ก็คือ คนที่ฟังเทศน์ฟังธรรมเพียงครั้งเดียวแล้วจะรู้จะเห็นธรรมทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ 
ฟังเทศน์ครั้งเดียวอาจได้บรรลุธรรมบางระดับ แต่ไม่ใช่รู้ธรรมทั้งหมด
พระพุทธวจนะตรัสไว้ดังนี้.
ถ้าจะแปล “สกิเทว” ว่า “เทวดาคราวเดียว” ข้อความก็จะต้องเป็นว่า ...
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง เทวดาคราวเดียวไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้”
พระพุทธวจนะก็จะเข้ารกเข้าพงไปหมด
เทวดาคราวเดียว” มาเกี่ยวอะไรด้วยกับพระพุทธวจนะนี้
พระคุณท่านย้ำยืนยันว่า “สกิเทว” ต้องแปลว่า “เทวดาคราวเดียว” เท่านั้น แปลอย่างอื่นผิด
ซ้ำบอกว่า แปลผิดกันมาทั่วประเทศ
--------------
ยังมีคำอื่นอีกที่พระคุณท่านแปลคลาดเคลื่อน คือ
๑ อาคนฺตฺวา = ผู้มาเยือน
คำนี้เป็นคำกริยา (บาลีไวยากรณ์ใช้คำว่า “กิริยา”) แปลว่า “มาแล้ว” ไม่ใช่คำนาม จึงแปลว่า “ผู้มาเยือน” ไม่ได้ 
เดาว่าพระคุณท่านคงไปเทียบกับคำว่า “อาคนฺตุก” ซึ่งเป็นคำนาม แปลว่า “ผู้มาเยือน” ครั้นมาเห็น “อาคนฺตฺวา” ก็เลยเข้าใจว่าแปลเหมือนกันเพราะรากศัพท์เดียวกัน
เทียบง่ายๆ กับคำอังกฤษว่า go to home แปลว่า “ไปบ้าน” ถ้าใครบอกว่า “go” แปลว่า “นายไป” ก็เลยแปลข้อความนี้ว่า “นายไปไปบ้าน” เราก็จะคงจะขบขันไปตามกัน
๒ คำว่า อิมํ โลกํ แปลว่า “โลกนี้” เป็นคำย้ำว่าไม่ใช่โลกอื่น แต่เป็นโลกนี้ คือโลกมนุษย์ที่พระพุทธองค์กำลังทรงดำรงพระชนม์อยู่นี้ เพราะคำว่า “นี้” เป็นคำชี้เฉพาะ เหมือนคำว่า “บ้าน” อาจหมายถึงบ้านใครที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าพูดว่า “บ้านนี้” ก็ต้องหมายถึงบ้านหลังที่กำลังกล่าวถึงกันอยู่ ไม่ใช่บ้านหลังอื่น
แต่พระคุณท่านขยายความ “อิมํ โลกํ - โลกนี้” ไว้ว่า “มนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง พรหมบ้าง” ซึ่งขัดกันเอง ในเมื่อเป็น “โลกนี้” แล้วจะเป็นเทวดาบ้าง พรหมบ้าง ได้อย่างไร
และในคำบรรยายพระคุณท่านก็ชี้ชัดลงไปว่า “ไม่ใช่โลกมนุษย์” ซึ่งกลับตรงกันข้ามกับคำว่า “อิมํ โลกํ” ที่หมายถึงโลกมนุษย์
ในที่อื่นมีคำขยายที่คุ้นหู เช่น -
อิมํ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ ... โลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ...
เป็นการยืนยันว่า “อิมํ โลกํ” เมื่อมนุษย์เป็นผู้พูดก็ต้องหมายถึงโลกมนุษย์ ถ้าจะหมายถึงโลกอื่นๆ ด้วย ก็ต้องมีคำขยายระบุไว้ชัดเจน
สาระของเรื่องตอนนี้ก็คือ พระพุทธวจนะบอกว่า ท่านผู้เป็นสกทาคามีจะมาเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวเท่านั้นแล้วก็จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
อรรถกถา (ซึ่งพระคุณท่านไม่ยอมรับโดยสิ้นเชิง) ขยายความว่า ความตอนนี้หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนได้เป็นพระสกทาคามีในโลกมนุษย์ แล้วไปเกิดในเทวโลก พอหมดอายุก็มาเกิดเป็นมนุษย์อีกแล้วก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในโลกมนุษย์นี้
เรื่องก็กลายเป็นว่า เป็นมนุษย์คราวเดียว ไม่ใช่เทวดาคราวเดียว
---------------
การจะให้พระคุณท่านยอมรับว่าเข้าใจผิด หรือไม่มีความรู้ภาษาบาลี เป็นเรื่องยาก
และเชื่อว่าท่านก็คงเดินหน้าเผยแพร่ความรู้ผิดๆ ที่ท่านเชื่อว่าถูกต่อไป
สมัยที่ผมทำงานอยู่ที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุเพื่อการค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา ได้พบกับครูบาอาจรย์ระดับเปรียญเอกอุเป็นจำนวนมาก ท่านเหล่านั้นเป็นแหล่งข้อมูลให้เราตักตวงความรู้ได้อย่างไม่อั้น เพราะเรารู้ประจักษ์ใจว่าความรู้ของเราเทียบท่านไม่ติด
วันหนึ่งมีพวกเราคนหนึ่งไปติดศัพท์ว่า “หิมวติ” (หิ-มะ-วะ-ติ) ไม่รู้จะแปลว่าอย่างไร ก็แบกคัมภีร์ไปที่โต๊ะท่านอาจารย์ประโยคเก้ารุ่นลายครามท่านหนึ่งแล้วขอให้ท่านช่วยวินิจฉัย
ท่านอาจารย์ท่านนั้นครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็ตอบว่า “หิม” คือหิมะ “วติ” ก็คือรั้ว
หิมวติ” ก็แปลว่า “มีหิมะเป็นรั้ว”
พวกเราได้ฟังก็โล่ง จัดแจงเก็บไว้เป็นข้อมูล
สักพักหนึ่ง ท่านอาจารย์ประโยคเก้าอีกท่านหนึ่งซึ่งลายครามไม่แพ้กันก็โพล่งขึ้นมา
ไม่ใช่แล้วอาจารย์.... 
หิมวติ ศัพท์เดิมคือ “หิมวนฺตุ” แจกรูปเหมือน “ภควนฺตุ”
ภควติ” แปลว่า “ในพระผู้มีพระภาค”
เพราะฉะนั้น “หิมวติ” ต้องแปลว่า “ในป่าหิมพานต์” ไม่ใช่ “มีหิมะเป็นรั้ว”
เมื่อตรวจข้อความประกอบก็เห็นได้ชัดเจนว่าถูกต้องตามคำทักท้วง
ท่านอาจารย์ประโยคเก้าท่านแรกไม่เถียงอะไรเลยแม้แต่คำเดียว 
ท่านผงกศีรษะยอมรับความผิดพลาดโดยดุษณี
พวกเราจึงนับถือท่านได้อย่างสนิทใจจนท่านล่วงลับไป
กระผมพร้อมที่จะนับถือพระคุณท่านอย่างสนิทใจตลอดเวลา
แค่ยอมรับว่าผิด ก็เป็นบัณฑิตทันที
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗


ไม่มีความคิดเห็น: