วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

ปฐมบทการบิดเบือนพระสัทธรรมของพระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เจ้าอาวาส วัดนาป่าพง

พระคึกฤทธิ์  โสตฺถิผโล  บิดเบือนพระสัทธรรมจะด้วยความตั้งใจก็ดี  ไม่ตั้งใจก็ดี  เพราะการตีความพระสัทธรรมผิดเพี้ยน  อ่านพระสูตรไม่ถ้วนทุกพระสูตร  ศึกษาพระไตรปิฎกไม่รอบด้านและศึกษาไม่ครบถ้วน  เมื่อมีบัณฑิตไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือฆราวาสชี้แนะ  ชี้แจง  พระคึกฤทธิ์ก็ดื้อด้าน ไม่รับฟัง ไม่ศึกษาตามคำแนะนำชี้แจง  ทิฏฐิของพระคึกฤทธิ์เช่นนี้เกิดจากการตีความคำว่า  คำสาวก”  ผิดเพี้ยน และตีความพระสูตรผิดเพี้ยนไป  จนสุดท้าย  แม้จะมีใครยกพระบาลีมาแสดงพระคึกฤทธิ์ก็หาทางออกด้วยการกล่าวว่าแปลบาลีผิด  โดยที่ตนเองไม่ได้มีความรู้ทางภาษาบาลีเลยแม้แต่น้อย 


พระคึกฤทธิ์บิดเบือนพระสัทธรรมอ้างว่า  พระพุทธเจ้าตรัสสั่งไว้ว่า  อย่าฟังคำคนอื่น  ศึกษาและฟังเฉพาะคำพระตถาคตเท่านั้น  แม้แต่พระอรหันต์ผู้เลิศด้วยปัญญาก็เป็นเพียงผู้เดินตามเท่านั้น”  และยังสร้างวาทะกรรม  ห้ามฟังคำแต่งใหม่  โดยบิดเบือนพระสูตร  ปิดบังพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญคำแต่งใหม่ตามศัพท์ที่ถูกต้องว่า  พยัญชนะปฏิรูป”  พฺยญฺชนปฏิรูปก   ซึ่งพระคึกฤทธิ์ไม่เคยนำมาแสดงเลย


ประเด็นพระพุทธเจ้าตรัสให้ฟังคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคำคนอื่นและสอนให้ประชาชนดูถูกพระอริยสาวกในพุทธกาลมีพระสารีบุตรเป็นต้น ไม่ให้ศรัทธาในพระอริยสาวกของพระพุทธองค์นั้นเป็นการกล่าวตู่พระพุทธองค์อย่างร้ายแรงประการหนึ่ง เพราะไม่มีพระสูตรใดเลยที่พระองค์ทรงตรัสไว้เช่นนั้น  พบในหลายพระสูตรที่พระองค์ทรงให้สาวกของพระองค์ออกเดินทางเพื่อเผยแผ่พระสัทธรรม  และหลายพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงให้สาวกแสดงธรรม รวมถึงสรรเสริญธรรมที่สาวกแสดง  เช่นในอนุตตริยสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่  ๒๒  แสดงไว้ว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้าง หรือเสียงสูงๆต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด  ดูกรภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี   ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้นเป็นกิจเลว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้ เราเรียกว่า สวนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ


พระสูตรซึ่งพระพุทธองค์ตรัสให้สาวกของพระองค์เดินทางไปเผยแผ่พระสัทธรรม  พระคึกฤทธิ์ก็กล่าวตู่พระพุทธองค์อีกว่า  ทรงสั่งให้กล่าวแต่คำพระพุทธองค์เท่านั้น  โดยนำคำที่พระพุทธองค์ทรงสั่งให้พระสาวกแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น  ในท่ามกลาง  และในที่สุด  มาตีความขยายความโดยขัดต่อพระสูตรอื่นที่ทรงอนุญาตให้ทำพยัญชนะปฏิรูปได้  การตีความเช่นนี้  เป็นการตีความเพื่อยกตนเองโดยลดทอนความเชื่อถือของพระอริยสาวกที่เดินทางออกไปเผยแผ่พระศาสนา   ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้นงามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมสัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี แม้เราก็จักกระทำ โดยที่ให้พระนครพันธุมดีเป็นสถานที่อันเธอทั้งหลายพึงกลับมาแสดงพระปาติโมกข์โดยหกปีๆ   ล่วงไป    ดังนี้ฯ    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒  ทีฆนิกาย มหาวรรค


แม้แต่พระพุทธองค์เองทรงเคารพในธรรม ก็ยังทรงฟังการแสดงธรรมของพระสาวก  “ดูกรนันทกะธรรมบรรยายของเธอนี่ยาวมาก แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ เรายืนรอฟังจนจบกถาอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกย่อมเมื่อยหลัง ฯ”  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕  อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต



ต่อมาเมื่อมีคำถามจากสังคมมากขึ้นและมีการแสดงพยานหลักฐานพระสูตรต่างๆ   ตามเว็บบอร์ดพันทิปตามเฟสบุ๊คต่างๆ  พระคึกฤทธิ์ฯ  ก็กล่าวแก้ตัวว่า  พระพุทธเจ้าให้ฟังเฉพาะคำสาวกที่พระองค์ทรงรับรองเท่านั้น ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏว่าพระองค์ทรงแสดงเช่นนั้นไว้ในพระไตรปิฎกเลย 


สาเหตุที่ทำให้พระคึกฤทธิ์ฯ เข้าใจเช่นนั้น เพราะพระคึกฤทธิ์ฯ ตีความพระบาลีว่า  สาวกภาษิต  ผิดเพี้ยนไป  ทั้งเมื่อผู้รู้นำพระบาลีมาแสดงความหมายของ  “พาหิรกา สาวกภาสิตา”  ให้พระคึกฤทธิ์ทราบ  และมีผู้พยายามอธิบายและยกอรรถกถามาแสดงความหมายของ พาหิรกา สาวกภาสิตา ว่าหมายถึง ภาษิตของสาวกนอกพระพุทธศาสนา พระคึกฤทธิ์ฯ  ก็ไม่ฟัง  ไม่สอบทาน  หนำซ้ำยังกล่าวจาบจ้วงอรรถกถาว่าเป็นคำแต่งใหม่ พระพุทธเจ้าไม่ให้ฟัง  จึงทำให้แนวคิดนี้ขัดแย้งกับพระสูตรอื่นอีกหลายพระสูตร และเกิดการจาบจ้วงพระอรรถกถาจากเหล่าผู้ศรัทธาพระคึกฤทธิ์ฯ  โดยคิดว่า  พระคึกฤทธิ์ฯ  เป็นคนเดียวในโลกที่เผยแผ่แต่พุทธวจนะและมีความรู้ในพระไตรปิฎกมากที่สุด  มากจนสามารถแยกแยะได้ว่าพระสูตรใดเป็นพุทธวจนะ พระสูตรใดไม่ใช่พุทธวจนะ  เพราะพระคึกฤทธิ์บิดเบือนคำสอนของพระศาสดาว่า  พระองค์ทรงให้ศึกษาแต่สุตตะ (พระสูตร) เท่านั้น  ทั้งๆ ที่หลักฐานในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม  เวทัลละพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต 
            

เมื่อมีผู้ถามว่า  ทั้งหมดนี้คืออะไร  ก็บิดเบือนไปอีกว่า เวทัลละคือธรรมชั้นลึก ได้แก่ปฏิจสมุปบาท ซึ่งเป็นคำพูดที่พระคึกฤทธิ์อธิบายเองโดยไม่มีพุทธวจนะรับรอง  ในขณะที่ผู้ศึกษาพระไตรปิฎกทั่วโลกยอมรับร่วมกันว่า  เวทัลละคือพระสูตรที่มีการถามตอบระหว่างพระพุทธองค์กับพระสาวก เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตร
            

พระคึกฤทธิ์ฯ  สอนประชาชนว่า  คำแต่งใหม่พระพุทธเจ้าไม่ให้ฟัง ซึ่งเป็นการบิดเบือนพระสัทธรรมอีกข้อหนึ่ง  เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเรื่อง  “พยัญชนะปฏิรูป”  ไว้  โดยสรรเสริญพยัญชนะปฏิรูปที่แสดงอนุโลมตามอรรถ ตามธรรม  พระคึกฤทธิ์ฯ  ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า  พยัญชนะปฏิรูปคือสัทธรรมปฏิรูป  ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นผู้ทำสัทธรรมปฏิรูป กล่าวสอนประชาชนว่าพระศาสดาสั่งทั้งๆ ที่พระศาสดาไม่ได้สั่ง  กล่าวสิ่งที่เป็นธรรมว่าไม่ใช่ธรรม  กล่าวสิ่งที่เป็นวินัยว่าไม่ใช่วินัย 
            

คำแต่งใหม่ที่พระคึกฤทธิ์ฯ  พูดถึง แท้จริงคือ พยัญชนะปฏิรูป (พฺยญฺชนปฏิรูปก) ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ดังนี้  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่อนุโลมอรรถและธรรม โดยสูตรซึ่งตนเรียนไว้ดี ด้วยพยัญชนะปฏิรูปนั้น ชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อประโยชน์ของชนมาก เพื่อความสุขของชนมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุพวกนั้นยังประสพบุญเป็นอันมาก ทั้งชื่อว่าดำรงสัทธรรมนี้ไว้อีกด้วย ฯ”  “เย เต ภิกฺขเว ภิกฺขู สุคฺคหิเตหิ สุตฺตนฺเตหิ พฺยญฺชนปฏิรูปเกหิ อตฺถญฺจ ธมฺมญฺจ อนุโลเมนฺติ เต ภิกฺขเว ภิกฺขู พหุชนหิตาย ปฏิปนฺนา พหุชนสุขาย พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ พหุญฺจเต ภิกฺขเว ภิกฺขู ปุญฺญํ ปสวนฺติ เตจิมํ สทฺธมฺมํฐเปนฺตีติ ฯ  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒  อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตร
            

ด้วยความคิดความเห็นที่ผิด  ด้วยการกล่าวธรรมว่าไม่ใช่ธรรม กล่าววินัยว่าไม่ใช่วินัย  จึงทำให้พระคึกฤทธิ์ฯ นำคำสอนผิดๆ ออกเผยแพร่แก่ประชาชนอีกหลายเรื่องหลายประการ  การเผยแพร่ดังกล่าวไม่ใช่การเผยแผ่หรือแสดงธรรมในพระพุทธศาสนา แต่เป็นการบิดเบือนคำสอนของพระศาสดา จนถึงกับกล่าวทำลายความน่าเชื่อถือของหลักฐานต่างๆ  ด้วยการกล่าวว่า  การเรียนบาลีในประเทศไทยผิดทั้งประเทศ  แปลผิดทั้งประเทศ   เป็นการเรียนเดรัจฉานวิชา  พระไตรปิฎกที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยมีคำปลอมรวมอยู่ด้วย ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกด้วยตนเองอย่างแท้จริง  เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความเชื่อถือในคำพูดของพระคึกฤทธิ์ฯ  นำมาซึ่งการวิวาท ถกเถียง และความแตกแยกในสังคมชาวพุทธศาสนาประเทศไทยดังที่ปรากฏในปัจจุบัน หากไม่มีการระงับอธิกรณ์  หรือทำความเห็นของชาวพุทธให้ถูกต้อง ชี้แจงด้วยหลักฐานทางวิชาการให้ชัดเจน  ความคลุมเครือและปัญหาเช่นนี้จะเกิดแล้วเกิดอีกไม่จบไม่สิ้นตลอดไป