วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เดรัจฉานวิชา ที่วัดนาป่าพงสอนผิด เข้าใจผิด



เรื่องเดรัจฉานวิชาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่วัดนาป่าพงสอนผิด  อธิบายผิด  บิดเบือนไปมาก ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สาวกพระคึกฤทธิ์จึงถึงขนาดวาดภาพการ์ตูน พุทธวจน'ตูน โดยนำภาพหลวงพ่อคูนมาเป็นแบบบิดเบือนว่าพระ "ทำ" เดรัจฉานวิชาต้องตกอบาย


ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุทำเดรัจฉานวิชาเพราะจะเป็นช่องทางทำให้เกิดมิจฉาอาชีวะ เป็นผลให้ขวางพระนิพพาน  เพราะเหตุไม่สามารถยังอริยมรรคมีองค์แปด ให้เกิดได้ก็เท่านั้นเอง

วัดน่าป่าพงสอนผิดตั้งแต่ใช้คำว่า  “ทำเดรัจฉานวิชา”  เพราะพระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า  “ทำเดรัจฉานวิชา”  แต่ทรงตรัสว่า “เลี้ยงชีพผิดด้วยเดรัจฉานวิชา”   มีพระบาลีว่า  “ยถา  วา  ปเนเก  โภนฺโต สมณพฺราหฺมณา สทฺธาเทยฺยานิ  โภชนานิ  ภุญฺชิตฺวา  เต  เอวรูปาย  ติรจฺฉานวิชฺชาย  มิจฺฉาชีเวน  ชีวิกํ  กปฺเปนฺติ   ฯ

ทำกับเลี้ยงชีพผิด ความหมายต่างกัน  แค่การใช้คำตามพระศาสดาโดยมีคำแปลไทยที่ผู้ศึกษาบาลีแปลไว้ให้เสร็จสรรพ พระคึกฤทธิ์ยังทำไม่ตรง แล้วจะอธิบายธรรมตรงตามพุทธดำรัสพระศาสดาหรือ


การที่พระพุทธเจ้าตรัสห้ามภิกษุ  “เลี้ยงชีพผิดด้วยเดรัจฉานวิชา”  นั้นเป็นเพราะทรงเกรงว่าภิกษุจะไปหลอกลวงชาวบ้าน  หาเงิน  หาทอง  กับชาวบ้าน อันเป็นการบริโภคปัจจัยอันมีโทษ และเป็นวิชาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์อันจะนำมาซึ่งความหลุดพ้น  จึงทรงตรัสห้าม

เหตุเพราะภิกษุเป็นผู้ดำรงชีพอยู่ด้วยการ  “ขอ”  ด้วยการ  “ให้โดยศรัทธา”  ของชาวบ้าน  จึงทำให้ภิกษุมีสัมมาอาชีวะ  เพราะรับปัจจัยสี่ที่เขาเต็มใจให้ด้วยศรัทธา   จึงเป็นหนทางให้อริยมรรคมีองค์แปดเจริญได้

พระศาสดาไม่เคยตรัสว่า   “ทำเดรัจฉานวิชาแล้วตกอบาย”  ทั้งหมดล้วนเป็นความเข้าใจผิดของพระคึกฤทธิ์และสาวกเอง

พระศาสดาทรงตรัสแต่เพียงว่า  การเลี้ยงชีพผิด (มิจฉาอาชีวะ) นั้น เป็นเครื่องที่ทำให้พลาดสวรรค์  พลาดมรรคผล  เท่านั้น


อนึ่ง  ไม่พึงตีความตามใจตนเองว่า  พลาดสวรรค์คือการตกอบาย เพราะมิฉะนั้นท่านจะเป็นผู้กล่าวตู่พระศาสดา  หากพระศาสดาทรงประสงค์จะชี้ว่า  การเลี้ยงชีพผิดด้วยเดรัจฉานวิชาแล้วตกอบาย จะทรงตรัสชัดเหมือนทุกพระสูตรที่ทรงตรัสเรื่องการตกอบาย  


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะ จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างไร จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด  ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด ย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งใจผิด ผู้มีความตั้งใจผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างนี้แล จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต


การเลี้ยงชีพผิด  ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิที่จะทำให้ตกอบาย 

มิจฉาทิฏฐิที่จะทำให้ตกอบายนั้น ทรงตรัสไว้ดังนี้ 

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นมิจฉาทิฐิมีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเช่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์พวกที่เกิดผุดขึ้นไม่มี สมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนหมู่สัตว์ให้รู้ตามไม่มีในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทิฐิวิบัติ.... เพราะทิฐิวิบัติเป็นเหตุ สัตว์ทั้งหลายเมื่อกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก.....ฯ”

พระคึกฤทธิ์ไปอธิบายว่า  พระที่ทำน้ำมนต์  คนที่รับการพรมน้ำมนต์ ลามปามไปถึงพระราชพิธีหลวงมีความเห็นผิดว่า  น้ำมนต์เป็นเครื่องดลบันดาล  จนถึงกับพูดว่า  "อย่าไปเรียกว่าทำน้ำมนต์ให้เรียกว่า ทำน้ำเดรัจฉานวิชา”  นั้น เป็นการพูดเกินคำพระศาสดา  และพูดโดยเดาเอาเองด้วยความคิดของตนเองว่า  พระที่ทำน้ำพระพุทธมนต์  คนที่พรมน้ำพระพุทธมนต์นั้น ทำไปด้วยความเชื่อว่า  กรรมไม่มี น้ำมนต์ดลบันดาล

ทั้งๆ ที่พระศาสดาอธิบายเรื่องการไม่เชื่อผลของกรรมไว้ชัดเจนว่า  “ผลวิบากของกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี”  ซึ่งหมายถึง  ความไม่เกรงกลัวต่อบาปกรรมนั่นเอง 

ดังนั้น  การฟังพระคึกฤทธิ์อธิบายเรื่องเดรัจฉานวิชาผิดๆ จึงส่งผลให้สาวกของพระคึกฤทธิ์เที่ยวจาบจ้วง ด่าพอ   เอานรกมาขู่ทั้งพระ  ทั้งโยม  ไปทั่ว  ทั้งหมด เริ่มจากการอธิบายเรื่องเดรัจฉานวิชาที่ผิด  ใช้ศัพท์ผิด ไม่กล่าวตามคำพระศาสดา  ไม่ศึกษาพระดำรัสให้ดีนั่นเอง  

ไม่มีความคิดเห็น: