วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิเคราะห์กรณีพระคึกฤทธิ์รับเทียนจำนำพรรษาพระราชทานกับการใส่อังสะแสดงธรรม

เมื่อวานวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘  ทางวัดนาป่าพงมีการเผยแพร่ภาพและเสียงทางทีวีของทางวัดในพิธีการที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ทรงให้ผู้แทนพระองค์นำเทียนพระราชทานในพระองค์ไปถวายวัดนาป่าพง ซึ่งเป็นพระกรณียกิจปกติที่พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีเช่นนี้ตลอดมา และมีการถวายเทียนพรรษาในพระองค์รวม ๗๗ จังหวัดทั่วประเทศไทย

อ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวไทย


ภาพที่ปรากฏบนจอซึ่งทางวัดนาป่าพงถ่ายทอดสด (ไม่ทราบว่าการถ่ายทอดสดครั้งนี้ ได้ทูลขอพระราชทานอนุญาตแล้วหรือไม่หรือว่าถ่ายทอดเองโดยพลการ) เป็นภาพพระคึกฤทธิ์ครองจีวรเรียบร้อย  ซึ่งต่างจากตอนที่พระคึกฤทธิ์แสดงธรรมแก่ชาวบ้านทั่วไป โดยจะครองอังสะตัวเดียวนั่งบนเก้าอี้แล้ว  “แสดงธรรม” 

มีสมาชิก   Facebook    ของข้าพเจ้าถามมาเสมอว่า  พระคึกฤทธิ์ทำถูกต้องตามพุทธวจนะหรือเปล่าที่ใส่อังสะตัวเดียวแสดงธรรม ข้าพเจ้าได้แต่ตอบว่า  ผิดหรือไม่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ แต่พระพุทธเจ้าไม่เคยทำ  ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าจะครองอันตรวาสกเรียบร้อยทุกครั้งก่อนแสดงธรรม

"ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรจีวรแล้ว เสด็จไปทางอาคารพักแรมพร้อมกับพระสงฆ์ ทรงชำระพระบาทยุคลแล้วเสด็จเข้าสู่
อาคารพักแรม ประทับนั่งพิงเสากลางผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แม้พระสงฆ์เหล่านั้นก็ล้างเท้าแล้ว เข้าสู่อาคารพักแรมนั่งพิงฝาด้านตะวันตก ผินหน้าไปทางทิศตะวันออก ห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค แม้อุบาสกอุบาสิกาชาวตำบลบ้านปาฏลิก็ล้างเท้าแล้วเข้าสู่อาคารพักแรม นั่งพิงฝาด้านตะวันออก ผินหน้าไปทางตะวันตกห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค  ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาโปรดอุบาสก อุบาสิกา ชาวตำบลบ้านปาฏลิฯลฯ"  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัย
ปิฎก เล่มที่ ๕  มหาวรรค ภาค ๒

น่าแปลกที่ทุกครั้งที่ชาวบ้านพากันติเตียนพฤติกรรมอาจาระไม่งามของพระคึกฤทธิ์ในเรื่องการใส่อังสะแสดงธรรมแล้วอัดคลิปโหลดยูทูปกระจายไปทั่วโลก  สาวกพระคึกฤทธิ์ต่างพากันแก้ตัวให้พระคึกฤทธิ์ว่า  ท่านอยู่ในวัดสามารถครองอังสะตัวเดียวได้  ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสงสัย อยากตั้งคำถามว่า  ถ้าเช่นนั้น  พระคึกฤทธิ์ก็สามารถแก้ผ้า  แก้ผ่อนในกุฏิเรือนนอนแล้วอัดคลิปลงยูทูปกระจายไปทั่วโลกได้ใช่หรือไม่  หรือว่าสาวกที่พูดแบบนี้จะทดลองดู กล้าหรือเปล่าที่จะแก้ผ้าอยู่ในบ้านแล้วอัดคลิปกระจายไปทั่วโลก 

และน่ากังขาหนักเข้าไปใหญ่ว่า  เมื่อมีคนชั้นสูงมาพบพระคึกฤทธิ์  พระคึกฤทธิ์จะครองจีวรเรียบร้อยออกมารับแขกเสมอ  ยิ่งเมื่อมีการนำเทียนพรรษาพระราชทานของเจ้านายมาถวาย พระคึกฤทธิ์ก็อยู่ในวัดเช่นเดียวกัน  ทำไมไม่กระทำอย่างเดียวกับที่เคยทำตามปกติคือ  “ครองอังสะตัวเดียวรับเทียนพรรษาแล้วอัดคลิปกระจายไปทั่วโลก” 


เหตุผลเพราะอะไร  ตกลงการอยู่ในวัดจึงทำให้ครองอังสะตัวเดียวถ่ายคลิปกระจายไปทั่วโลกได้จึงไม่น่าจะใช่เหตุผลที่สมเหตุสมผลเสียกระมั้ง  หรือว่า  พระคึกฤทธิ์เองก็แบ่งชนชั้นในการรับแขก ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็ทำตัวสบายๆ  แต่ถ้าเป็นเจ้านายหรือคนชั้นสูงก็ครองผ้าเสียให้เรียบร้อย เพื่อให้สมเกียรติผู้มาเยือน  เพราะเกียรติของผู้มาเยือนต่างกัน เช่นนั้นหรือ ?





 ตอนรับเทียนพรรษาจากสาวกตนเองที่เป็นชาวบ้าน ใส่อังสะตัวเดียวเองหรือ เหตุใดช่างต่างกัน





วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หนอนพระไตรปิฎกท้าดีเบตพระคึกฤทธิ์ นิมนต์เวทีสาธารณะท้องสนามหลวง

มีเพื่อนสมาชิก Facebook ของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นศิษย์เก่าที่เคยเลื่อมใสศรัทธาวัดนาป่าพง บัดนี้ได้ทราบข้อมูลหลายอย่างและเลิกเลื่อมใสศรัทธาแล้ว ส่งข้อความมาถามข้าพเจ้าดังนี้

“เคยมีเพื่อนจากวัดนาป่าพงเช่นกันค่ะ  ตอนนั้นเขาบอกว่า มีผู้หญิง ท่านหนึ่งโจมตี พอจ.วัดนาป่าพง  จะเอานักข่าว หรือทีวี มาด้วย เพื่อมานั่งถกเรื่องพุทธวจน  แต่เอาไปเอามา   ผู้หญิงท่านนั่นไม่ยอมมาตามนัด และหายเข้ากลีบเมฆไปค่ะ  แต่พอจ. และลูกศิษย์ก้อรอยู่นะคะ  แต่ทำไมไม่มา  อันนี้เขาเล่าให้ฟังนะคะ  เขาเองก็เป็นลูกศิษย์ระดับสูงค่ะ”

เมื่อได้ฟังเพื่อนสมาชิกท่านนี้เล่า บอกได้คำเดียวว่า  “มุสา”  โกหกหลอกลวงไปวันๆ เป็นสรณะของพระคึกฤทธิ์และเหล่าสาวกวัดนาป่าพงเลยทีเดียว

สาวกพระคึกฤทธิ์ชอบอ้างว่าคณะของเรานัดแล้วไม่ไปตามนัด ไม่ยอมเข้าไปพบท่านคึกฤทธิ์

ความจริง เราโทรนัด ส่งจดหมายลงทะเบียนตอบรับเพื่อนัดหมาย ทางวัดนาป่าพงก็เลื่อนนัดอย่างไม่มีกำหนด อ้างว่าไม่ว่างบ้าง ติดกิจนิมนต์บ้าง คิวเต็มบ้าง จนเราคิดว่ารอไม่ไหว ร้องเรียนเลยดีกว่า

มีพระภิกษุผู้ศึกษาพระไตรปิฎก อรรถกถา บาลีใหญ่ (พระอาจารย์สมบูรณ์ ฉนฺทโก) ท่านเดินทางมาจากประจวบขอเข้าพบคึกฤทธิ์ มีพระอัครสาวกของท่านคึกฤทธิ์มาสอบถาม เมื่อรู้ว่าจะมาคัดค้านและแลกเปลี่ยนความจริงในเรื่องนี้ ก็ให้นั่งรอจนสามทุ่ม จนท่านรอไม่ไหว ต้องกลับประจวบในคืนนั้นเลย

เลิกมุสาวาทได้แล้วท่านคึกฤทธิ์ หลักฐานและพยานมีทุกประการ แน่จริงออกมาสนามหลวงเลยดีกว่า อย่ามัวโกหกสาวกไปวันๆ เลย มันน่าอาย

ฟังหลักฐานคลิปขอนัดหมาย
http://www.youtube.com/watch?v=2gdoDP11LPQ

คลิปขอเลื่อนการนัดหมายจากวัดนาป่าพง
http://youtu.be/Nyr34Jkx74A

จดหมายเปิดผนึกถึงพระคึกฤทธิ์ให้เตรียมการสำหรับการนัดหมาย


ชมหลักฐานภาพทางไลน์ที่เราแจ้งขอเลื่อนกำหนดการนัดหมายให้กระชับเข้ามาแต่ก็ถูกปฏิเสธ จนเบื่อ ต้องใช้วิธีการร้องเรียนต่อรัฐบาล จนบัดนี้ท่านคึกฤทธิ์ก็ยังไม่ออกมา 













วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระสารีบุตรทูลแนะนำพระพุทธเจ้า "ผิด!!!" กับกรณีพระพุทธเจ้าแนะนำพระมหากัสสปะ





พระคึกฤทธิ์มักจะยกกรณีพระสารีบุตรทูลถวายคำแนะนำพระพุทธเจ้าแล้วพระองค์ไม่เห็นด้วยมาแสดงกับสาวกของตนเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของพระสารีบุตร โดยกล่าวหาว่าพระสารีบุตร "ผิด!!!" หลายครั้งหลายครา

แต่เรื่องที่พระสารีบุตรแนะนำให้ทำสังคายนาจำลองพระพุทธเจ้าทรงตรัสอนุโมทนาจนการสังคายนาจำลองนั้นได้เกิดขึ้นจริงหลังพุทธปรินิพพาน ให้พวกเราได้มีพระธรรมคำสอนของพระศาสดาได้ศึกษา รู้ผิด รู้ชั่ว รู้ดี มาจนทุกวันนี้ พระคึกฤทธิ์ไม่เคยพูดให้สาวกฟัง

การแนะนำใดๆ ที่พระสารีบุตรหรือพระสาวกกระทำต่อพระศาสดานั้น ไม่จำเป็นที่พระศาสดาต้องเห็นด้วย แม้แต่พระศาสดาเองทรงแนะนำให้พระมหากัสสปะให้เลิกถือธุดงควัตร แต่พระมหากัสสปะไม่เห็นด้วยกับพระศาสดาจึงไม่ยอมเลิกถือธุดงควัตร

ถ้าตรรกะของพระคึกฤทธิ์คือพระสารีบุตรทูลแนะนำ พระศาสดาไม่เห็นด้วยคือพระสารีบุตร "ผิด!!!" ตรรกะวิบัติเช่นนี้จะไม่ทำให้พระศาสดาเป็นผู้ผิดด้วยการแนะนำพระมหากัสสปะแล้วท่านไม่เห็นพ้องด้วยดอกหรือ

ดังนั้น การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของพระศาสดาในคำแนะนำของพระสาวก หรือที่พระสาวกจะการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตามคำแนะนำของพระศาสดา ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุและผลของแต่ละท่านทั้งสิ้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่พระคึกฤทธิ์จะนำความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของพระศาสดาที่มีต่อพระสารีบุตรมาเป็นข้อชี้ว่าพระสารีบุตร "ผิด!!!"

[๔๗๙] เมื่อพระมหากัสสปนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า กัสสป บัดนี้เธอชราแล้ว ผ้าป่านบังสุกุลเหล่านี้ของเธอหนัก ไม่น่านุ่งห่ม เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงคฤหบดีจีวร จงบริโภคโภชนะที่เขานิมนต์แลจงอยู่ในสำนักของเราเถิด ฯ

ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเวลานานมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร เป็นผู้มีความมักน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย เป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษเป็นผู้สงัดจากหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดจากหมู่ เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลี เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร ดังนี้ ฯ

[๔๘๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรกัสสป ก็เธอเล็งเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไร จึงเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร สิ้นกาลนาน ฯ
เป็นผู้เที่ยวไปบิณฑบาตเป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ...
เป็นผู้มักน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ...เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ... เป็นผู้ปรารภ
ความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร ดังนี้ ฯ

[๔๘๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการ จึงอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน ฯลฯ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... มีความปรารถนาน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ...เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง ความปรารภความเพียร เล็งเห็นการอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม และอนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลังว่า ทำไฉน ประชุมชนในภายหลังพึงถึงทิฏฐานุคติว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ที่ได้มีมาแล้ว ท่านเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ อยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน ฯลฯเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ...เป็นผู้มักน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ...เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรมาแล้วสิ้นกาลนาน ท่านเหล่านั้นจักปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ข้อปฏิบัติของท่านเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนานดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการเหล่านี้ จึงอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความอยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... มีความปรารถนาน้อย ...เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ... ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการ ปรารภความเพียรสิ้นกาลนาน ฯ


[๔๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ กัสสป ได้ยินว่า เธอปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรกัสสป เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงผ้าป่านบังสุกุลอันไม่น่านุ่งห่ม จงเทียวบิณฑบาต และจงอยู่ในป่าเถิด ฉะนี้ ฯ

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ - พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค 

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระศาสดาทรงอนุญาตคำสาวก


            ไม่มีใครแม้สักคนที่จะปฏิเสธคำสอนของพระศาสดา  แต่สิ่งที่เราปฏิเสธวัดนาป่าพงคือคำสอนของวัดนาป่าพงที่สอนประชาชนห้ามฟังคำสาวก

            วัดนาป่าพงโดยพระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เป็นบุคคลแรกที่เผยแพร่แนวคิด “ห้ามฟังคำสาวก” โดยยกพระสูตรเพียงพระสูตรเดียว ซึ่งเกิดจากการตีความพระบาลีผิดด้วยตนเองไม่ได้ศึกษาภาษาบาลี ขาดองค์ความรู้ด้านภาษาบาลี สั่งสอนประชาชนว่า ให้ฟังแต่คำพระพุทธเจ้าเท่านั้น ห้ามฟังคำสาวกแม้แต่คำสาวกระดับพระอรหันต์ผู้เลิศทางปัญญาอย่างพระสารีบุตรก็ห้ามฟัง  เป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎก ขาดความรู้ด้านภาษาบาลีหลงเชื่อและพากันเผยแพร่แนวคิดนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง  ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่าห้ามฟังคำสาวกเลยแม้พระสูตรเดียว โดยเฉพาะสาวกผู้เป็นพระอรหันต์ซึ่งพระองค์ทรงรับรองความเป็นพระอรหันต์และแต่งตั้งให้เป็นผู้เลิศในด้านต่างๆ ด้วยพระองค์  

            วัดนาป่าพงได้นำเอา “อาณิสูตร”  ความว่า สุตตันตะเหล่าใดมีนักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสรวย มีพยัญชนะอันวิจิตรเป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่,เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียนไป.  ภิกษุทั้งหลาย ! ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้น ที่เป็นคำของตถาคตเป็นข้อความลึก  มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตาจักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ แล.  โดยนำเอาคำว่า “สาวกภาษิต (คำกล่าวของสาวก)” มาตีความว่า หมายถึง “คำสาวกในพระพุทธศาสนาไม่เว้นแม้แต่คำพระอรหันตสาวกเช่นพระสารีบุตร”   มีผู้รู้บาลีหลายท่านในประเทศไทย ต่างแสดงความเห็นว่า การตีความเช่นนี้ เป็นการตีความที่ผิด เพราะภาษาบาลีของพระสูตรนี้ มีกำกับไว้ชัดเจนแล้วด้วยศัพท์บาลีว่า   “พาหิรกา”  ซึ่งแปลว่า  “มีในภายนอก”  เมื่อนำมาแปลรวมกับศัพท์ว่า “สาวกภาสิตา” จึงต้องแปลว่า  “คำสาวกที่มีมาในภายนอก”  ซึ่งหมายถึง ภายนอกพระพุทธศาสนา ก็คือ ลัทธิอื่น ศาสนาอื่น นั่นเอง 

            และมิใช่เพียงนัยทางภาษาบาลีเท่านั้น ยังมีอีกหลายพระสูตรในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ฟังคำสาวกของพระองค์  ในขณะที่พระคึกฤทธิ์ฯ สอนว่า คำสาวกแม้แต่พระอรหันตสาวกผู้เลิศทางปัญญา (ซึ่งหมายถึงพระสารีบุตร)  ก็ฟังไม่ได้  แต่พระพุทธเจ้าตรัสสอนสาวกทั้งหลายของพระองค์ให้เสพคบ ให้ฟังคำพระสารีบุตรซึ่งพระสูตรนี้พระคึกฤทธิ์ไม่เคยนำมาสอนประชาชนเลย  โดยพระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเสพ จงคบสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด ทั้งสองรูปนี้เป็นบัณฑิตภิกษุ ผู้อนุเคราะห์ผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์  สารีบุตรเปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว  สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะ ย่อมแนะนำในผลชั้นสูง  สารีบุตรพอที่จะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ ได้โดยพิสดาร”  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๖๙๙ 

และมิใช่มีเพียงพระสูตรเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายพระสูตรนับเป็นสิบ นับเป็นร้อย ที่พระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ฟังคำสาวกของพระองค์ได้

พระพุทธเจ้าทรงกำชับว่า หากไม่เข้าใจคำสอนของพระองค์ให้เข้าไปไต่ถามภิกษุสาวกของพระองค์ได้ เพราะสาวกของพระองค์นั้น สามารถอธิบายให้เข้าใจได้  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเข้าไปหาภิกษุ ผู้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัยทรงมาติกา ตามเวลา แล้วไต่ถาม สอบสวนว่า ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์นี้อย่างไร ความแห่งพระพุทธพจน์นี้อย่างไร ท่านเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยธรรมที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำธรรมที่ยังมิได้ทำให้ตื้นแล้วให้ตื้น และย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมิใช่น้อยแก่ภิกษุนั้น”  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒  อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ข้อ ๔๕๙

            พระพุทธเจ้าตรัสย้ำว่า สาวกของพระองค์สามารถสอนให้ปุถุชนบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกับพระองค์  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน”  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ข้อ ๓๐๑

            การศรัทธาหยั่งลงมั่นในพระตถาคตโดยส่วนเดียว ตามที่วัดนาป่าพงเข้าใจว่าหมายถึงให้ฟังคำพระตถาคตเพียงผู้เดียว ข้อนั้นจึงเป็นความเข้าใจที่ผิด  โดยพระคาถาว่า  ตถาคเต  เอกนฺตคโต  อภิปฺปสนฺโน (ตะ ถา คะ เต  เอ กัน ตะ คะ โต อะ ภิป ปะ สัน โน)  เลื่อมใสอย่างยิ่ง ในส่วนเดียวต่อพระตถาคต มิได้มีความหมายว่า ให้เลื่อมใสพระตถาคตเพียงคนเดียว แต่หมายถึงการไม่เลื่อมใสในศาสดาของลัทธิอื่น ศาสนาอื่น  ซึ่งหากตีความอย่างที่วัดนาป่าพงตีความ เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้เลื่อมใสพระองค์คนเดียวก็จะขัดแย้งกับคำสอนของพระองค์ซึ่งให้เลื่อมใสสาวกของพระองค์ด้วย  ดูกรภิกษุทั้งหลายส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การได้นี้ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน”  อ้างแล้วในวรรคก่อน
            
ต่อมาหลังจากที่พระคึกฤทธิ์ฯ วัดนาป่าพง ได้รับทราบว่ามีพระสูตรเหล่านี้ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกจึงกล่าวแก้ว่า  คำสาวกที่พระพุทธเจ้าให้ฟังได้ต้องได้รับการรับรองจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น  คำกล่าวแก้นี้ไม่เป็นความจริงเพราะในพระไตรปิฎกมีคำสอนของพระอรหันต์มากมายที่พระพุทธเจ้าไม่ได้รับรองหากแต่เป็นคำสอนที่คล้อยตามพระพุทธเจ้า อยู่ในแนวทางคำสอนของพระพุทธศาสนาก็สามารถรับฟังได้  พระพุทธเจ้าคงไม่สามารถตามไปรับรองคำสอนของพระสาวกได้ทุกรูป นอกจากมีผู้นำคำสอนของพระสาวกมาทูลถามพระพุทธเจ้าให้พระองค์รับรอง พระองค์จึงทรงรับรอง  การรับรองคำสาวกจึงไม่ใช่หลักการทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าต้องรับรองทุกราย  แต่ทรงประทานหลักมหาปเทสสี่และหลักตัดสินธรรมวินัยไว้ให้ผู้ฟังได้ใช้ในการพิจารณาด้วยตนเอง

การที่พระคึกฤทธิ์ฯ  ดำริแนวการสอนของตนว่า  ห้ามฟังคำสาวกทั้งสิ้น เว้นแต่คำสาวกนั้นต้องเป็นคำสาวกที่พระพุทธเจ้ารับรอง จึงเป็นการตัดตอนหลักมหาปเทสสี่และหลักตัดสินธรรมวินัยแปดไม่ให้มีที่ใช้เสียทีเดียว ด้วยความคิดว่า  “ไม่ต้องไปฟังทั้งสิ้นเลย”  ถ้าหากเป็นเช่นนั้น  คำสาวกนอกพุทธกาลอย่างหลวงปู่  หลวงตา รวมถึงคำสอนของพระคึกฤทธิ์ที่อธิบายว่า “นิพพานคือช่องว่างในที่คับแคบ”  ก็ไม่ควรจะฟังเลย  และไม่ควรจะต้องใช้หลักมหาปเทสสี่และหลักตัดสินพระธรรมวินัยเลยเช่นนั้นหรือ

การที่พระพุทธศาสนายั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านกาลเวลามาเป็นเวลาสองพันกว่าปีนั้น เป็นไปด้วยพระดำรัสของพระศาสดาที่สั่งสาวกว่า ให้นำคำสอนของพระองค์ไปประกาศ และทรงมีพุทธานุญาตให้อธิบายคำสอนได้ด้วยในกรณีที่ผู้ฟังไม่เข้าใจ  ดังพระดำรัสที่ผู้เขียนได้ยกมาในเบื้องต้นแล้ว “ภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก  เพื่ออนุเคราะห์โลก  เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  เธอทั้งหลายจงอย่าไปทางเดียวกันสองรูป  พวกเธอจงแสดงธรรม  งามในเบื้องต้น  งามในท่ามกลาง  งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์  พร้อมทั้งอรรถ  พร้อมทั้งพยัญชนะ  บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง  แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗  สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๔๒๘

กล่าวโดยสรุป  พระพุทธเจ้าทรงจำแนกเรื่องคำสาวกในอนาคตกาล ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังศาสดาของแต่ละลัทธิ แต่ละศาสนาสิ้นไป นี้ไว้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

๑.      คำสาวกนอกพระพุทธศาสนา  ไม่เงี่ยโสตลงฟังเลย
๒.    คำพระอรหันตสาวกที่พระองค์ทรงรับรองความเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏอยู่ในพระ
ไตรปิฎก  ให้ฟังได้ ให้ปฏิบัติตาม
๓.    คำสาวกในพระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน  ให้ใช้หลักมหาปเทสสี่และหลักตัดสินพ
ธรรมวินัย ตัดสินเอาด้วยปัญญาของผู้ฟังเอง






วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สกทาคามี เข้าถึงสวรรค์ชั้นดุสิต พระคึกฤทธิ์จึงปลอมพุทธวจนะให้ตรงกับทิฏฐิตน

เรื่องราวที่น่าตกใจในโลกอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับพระคึกฤทธิ์ในขณะนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องพระคึกฤทธิ์แก้ไขพระสูตรในพระไตรปิฎกให้ตรงตามความคิดเห็นของตนเอง  โดยพระคึกฤทธิ์มีความคิดเห็นว่า สกิเทว แปลว่า เทวดาคราวเดียว จึงเข้าใจพระพุทธวจนะของพระศาสดาที่ตรัสว่า “อิมํ โลกํ อาคนฺตวา” ว่า หมายถึง “มาสู่เทวโลกนี้”  พระคึกฤทธิ์โดยพลการจึงได้แก้ไขคำแปลลงในเว็บไซด์และในหนังสือคู่มือโสดาบันของตนเอง  ปรากฏตามหลักฐานภาพถ่ายที่แนบ

ภาพถ่ายจากเว็บวัดนาป่าพง



ภาพถ่ายจากหนังสือคู่มือโสดาบัน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ ปี พ.ศ.๒๕๕๔



                            

เพราะพระคึกฤทธิ์ไม่ได้เรียนไวยากรณ์บาลี   จึงแปลบาลีไม่เป็น  และยังบอกสาวกตนเองว่า  “อาตมาใช้พระสูตรอธิบายพระสูตร”  จึงทำให้เหล่าสาวกของพระคึกฤทธิ์พากันปฏิเสธบาลีไวยากรณ์  โดยลืมไปว่า   พระสูตรที่ตนเองอ้างนำมาอธิบายนั้น ได้ผ่านการแปลตามหลักบาลีไวยากรณ์เช่นกัน
เหล่าสาวกพระคึกฤทธิ์ไม่เข้าใจประเด็น จึงพยายามอธิบายว่า อาจารย์ตนไม่ได้ผิดอะไร พร้อมทั้งยกพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรับรองบุคคลผู้ตายในโลกมนุษย์แล้วบรรลุสกทาคามีว่า ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต  เช่นในพระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ 
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต  หน้าที่ ๓๑๖/๔๐๗ ข้อที่ ๓๑๕

แท้จริงแล้ว เหล่าผู้คัดค้านการตีความบาลีของพระคึกฤทธิ์ไม่มีใครเลยแม้สักคนที่จะคัดค้านว่า พระสกทาคามีบุคคลเมื่อตายไปแล้วไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต  แต่ที่เขาค้านกันคือประเด็นที่พระคึกฤทธิ์แปลบาลีผิด ทำให้เข้าใจว่า พระสกทาคามีเมื่อไปเกิดยังเทวโลกแล้ว   จะปรินิพพานในเทวโลกนั้น ไม่กลับมาเกิดยังโลกมนุษย์อีก  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง จนกระทั่งถึงปฏิเสธคำว่า "มาสู่โลกนี้ อีกเพียงครั้งเดียว"  (ตรงนี้พระคึกฤทธิ์ไม่สามารถแก้ตัวเป็นอย่างอื่นได้ เพราะถ้าไม่เข้าใจผิด จะต้องไปแก้ไขคำแปลให้สมกับที่ตนแปลสกิเทว ว่า เทวดาคราวเดียว ทำไม) เพราะไม่มีพระสูตรไหนเลยที่พระศาสดาจะตรัสรับรองว่า พระสกทาคามีจะปรินิพพานในเทวโลกนั้น ต่างกับบุคคลผู้ละสังโยชน์ ๕ (อนาคามี) ซึ่งพระศาสดาตรัสรับรองว่า จะปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา 
 พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต 
ฌานสูตร


ความเข้าใจที่ผิด ทำให้พระคึกฤทธิ์กระทำการอันร้ายแรงด้วยการไปแก้ไขพระไตรปิฎกให้เป็นไปตามที่ตนเองพอใจ ทั้งๆ ที่กล่าวอ้างมาตลอดว่า ตนเองไม่ได้แก้ไขอะไร อีกทั้งทุกอย่างตนเองก๊อปมาจากห้าเล่มจากพระโอษฐ์ของท่านพุทธทาส 

เมื่อย้อนกลับไปดูแหล่งข้อมูลตามที่พระคึกฤทธิ์อ้างอิงตลอดมา พบว่า

ท่านพุทธทาสแปล  “อิมํ โลกํ อาคนฺตวา”  ว่า  “มาสู่โลกนี้”  เช่นเดียวกันกับฉบับหลวงและฉบับ มจร และ มมร







หลังจากที่พระคึกฤทธิ์นำพระสูตรมารับรองความคิด ความเชื่อของตนเองแพร่หลายออกไป และผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างช่ำชองจะเชื่อโดยสนิทใจ เพราะพระคึกฤทธิ์สามารถยกพระสูตรที่พระศาสดาตรัสว่า  สกทาคามีไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต  มาตบตาผู้ใหม่ในพุทธวจนะได้จริงๆ 

ตามหลักไวยากรณ์  การจะแปลว่า  “มาสู่เทวโลก”  ได้นั้น  พระบาลีที่พระศาสดาตรัสจะต้องเป็นพระพุทธวจนะว่า  “เทวโลกํ”  ปรากฎตามภาพถ่ายหลักฐานที่แนบ

ส่วน อิมํ โลกํ จะแปลว่า “เทวโลก”  เป็นไปไม่ได้เลย

จึงขอฝากคำถามถึงท่านทั้งหลาย ใช้วิธีคิดง่ายๆ  ถ้า อิมํ โลกํ  แปลว่า  เทวโลก  แล้ว  เทวโลกํ จะแปลว่าอะไร  ขอให้ลองช่วยแปลกันดู


บทความหน้า จะชี้ประเด็นตรรกะด้านภาษาไว้เป็นข้อสังเกตุของคำว่า "มาสู่เทวโลกนี้" ต่อไป






วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พาหิรกา สาวกภาสิตา สาวกภาษิตที่พระคึกฤทธิ์บิดเบือน

ข้าพเจ้าได้ดูคลิปซึ่งพระคึกฤทธิ์แปลและตีความ "พาหิรกา สาวกภาสิตา" ผิดไป โดยยกระดับขึ้นใส่ความอรรถกา กล่าวหาว่าอรรถกถาขัดแย้งกันเอง โดย


http://youtu.be/WIU3P2LX8Lk

นาทีที่ 3.12 พระคึกฤทธิ์บอกว่า อรรถกถาขัดแย้งกันเอง เพราะในพระสูตร (อาณิสูตร) อรรถกถาอธิบายว่า พาหิรกา สาวกภาสิตา คือ คำสาวกนอกศาสนา ส่วนในพระวินัยที่อธิบายเรื่องธรรมได้แก่อะไร (พระวินัยปิฎกมหาวิภังค์ ภาค ๒ ข้อ ๒๘๖) กลับไปอธิบายว่า สาวกภาษิตคือภาษิตของสาวกในพระพุทธศาสนา

พระคึกฤทธิ์พูดไม่หมด ถ้าใครไม่ตรวจสอบบาลีตามก็จะเชื่อพระคึกฤทธิ์ ที่ใส่ความอรรถกถา

เหตุที่สองแห่งอธิบายไม่ตรงกันเพราะ ในอาณิสูตร มีบาลีว่า พาหิรกา แปลว่า ภายนอก กำกับไว้ จึงต้องแปลว่า สาวกภาษิตนอกพระพุทธศาสนา ส่วนในพระวินัยไม่มีคำว่า พาหิรกา กำกับไว้ จึงไม่แปลว่า ภายนอก พระอรรถกถาจารย์ท่านมิได้อธิบายขัดแย้งกันเอง แต่พระคึกฤทธิ์ใส่ความท่านโดยบิดเบือนพระบาลี

อาณิสูตร
เย ปน เต สุตฺตนฺตา กวิกตา กาเวยฺยา จิตฺตกฺขรา จิตฺตพฺยญฺชนา พาหิรกา สาวกภาสิตา เตสุ
ภญฺญมาเนสุ สุสฺสุสิสฺสนฺติ โสตํ โอทหิสฺสนฺติ อญฺญาจิตฺตํ อุปฏฺฐาเปสฺสนฺติ เต จ ธมฺเม อุคฺคเหตพฺพํ ปริยาปุณิตพฺพํ มญฺญิสฺสนฺติ ฯ จะเห็นว่ามีคำว่า พาหิรกา สาวกภาสิตา


ส่วนในพระวินัยนั้นไม่มีคำว่า "พาหิรกา"  โดยมีพระบาลีว่า  ธมฺโม นาม พุทฺธภาสิโต สาวกภาสิโต อิสิภาสิโต เทวตาภาสิโต อตฺถุปสญฺหิโต ธมฺมุปสญฺหิโต ฯ

ดังนั้น เมื่อพระบาลีไม่มีคำว่า พาหิรกา จึงไม่สามารถแปลให้เหมือนในอาณิสูตรว่า ภายนอก ได้



พระวินัยแปลไทยตามที่พระคึกฤทธิ์อ้างถึง
[๓๐๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด ...

บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์ ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นผู้รู้เดียงสา สามารถทราบถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิตชั่วหยาบและสุภาพ.

บทว่า ยิ่งกว่า ๕-๖ คำ คือ เกินกว่า ๕-๖ คำ.

ที่ชื่อว่า ธรรม ได้แก่ถ้อยคำที่เป็นพุทธภาษิต สาวกภาษิต อิสิภาษิต เทวตาภาษิต ซึ่งประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม.

พระคึกฤทธิ์จึงอธิบายผิด โดยมีเจตนาทำให้อรรถกถาขัดกันเพื่อให้ลงกับคำสอนของตัวเองที่สอนประชาชนว่า อรรถกถาคือคำแต่งใหม่ มีความขัดแย้งกัน อย่าไปฟัง