วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ปัญหา ๕ มาสก เป็นเท่าไหร่ตามพุทธวจนะ

สถานการณ์  ณ  วันที่  ๒๐  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๘  กำลังรอมติ มส. พิจารณากรณีพระธัมมชโยถือเอาทรัพย์ที่เขาไม่ได้ให้ตั้งแต่ ๕ มาสก ขึ้นไป  ทำให้ข้าพเจ้านึกขึ้นได้ว่า  ๕ มาสกนี่ถ้าถามชาวพุทธวจน วัดนาป่าพง เขาจะตอบว่าอย่างไรหนอ  เพราะเขาพูดไว้หนักแน่นว่า   เขาถือเอาเฉพาะพุทธวจนะที่มีคำขึ้นต้นว่า “ดูกร..” เท่านั้น 

ในเรื่องค่าเงินหน่วยนับเป็นมาสกนี้  เป็นหน่วยนับเงินของอินเดียในสมัยพุทธกาล  ซึ่งในพุทธกาลยังไม่มีเงินบาทให้เทียบกันเลยด้วยซ้ำ  ดังนั้น  จึงไม่มีดอกว่าพระผู้มีพระภาคจะอธิบายไว้ว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตบัญญัติ ๕ มาสก เท่ากับ.....บาทไทย”  แล้วเขาจะเอาอะไรมาตอบ 



การวินิจฉัยเทียบราคาทรัพย์ ๕ มาสกนี้ (พระบาลีใช้ศัพท์ว่า  ปญฺจมาสกํ)  เราถือเอาตามอรรถกถาหรือตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกในส่วนที่พระคึกฤทธิ์และพวกเรียกว่า  “คำสาวก”  โดยในพระวินัยปิฎก  มหาวังค์  ภาค ๑ เล่ม ๑  หน้า ๒๔๑ ข้อ ๘๓ (ฉบับหลวง)  บันทึกไว้ว่า  

  “ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า เพราะทรัพย์บาทหนึ่งบ้าง เพราะของควรค่าบาทหนึ่งบ้าง เกิน บาทหนึ่งบ้าง พระพุทธเจ้าข้า   

แท้จริงสมัยนั้น ทรัพย์ ๕ มาสกในกรุงราชคฤห์ เป็นหนึ่งบาท    ซึ่งการอธิบาย  ๕  มาสกเท่ากับ  ๑ บาท  นี้เป็นการอธิบายโดย  “คำสาวก”  ซึ่งในสมัยที่มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย  อาจจะเป็นไปได้ว่า  ผู้แปลได้ดูการเทียบค่าเงินจากอรรถกถาและฎีกา  โดยอรรถกถาและฎีกาเทียบมูลค่ามาสกจากราคาทอง  วิธีการคือ นำข้าวสาร ๒๐ เมล็ดมาชั่งน้ำหนักกับทอง ข้าวสาร ๒๐ เมล็ดมีน้ำหนักเท่ากับทองกี่กรัมก็เอาน้ำหนักนั้นไปคำนวนด้วยราคาเงินบาท  ในสมัยที่มีการแปลพระไตรปิฎกข้อนี้  ราคาทองอาจจะแค่บาทละ ๑๐๐  หรือ ๒๐๐ บาท  ดังนั้น  ๕ มาสกจึงมีค่าเท่ากับทองราคา ๑ บาท  ก็เป็นไปได้  

วัดนาป่าพงจึงไม่ควรยกสาวกภาษิตนี้มาตอบเรื่อง  ๕ มาสก  แต่พึงนำพุทธวจนะที่ทรงอธิบายเรื่อง  ๕ มาสกมาแสดงเถิด  ให้สมกับที่พวกท่านชูประเด็น  จุดเด่นว่า  ตนเอาแต่พุทธวจนะเท่านั้น   ไม่เอาอรรถกถา คำครูบาอาจารย์  หรือคำแต่งใหม่ใดๆ ทั้งสิ้น 

ถ้าไม่ใช้หลักการเทียบตามนัยอรรถกถา  จะเกิดปัญหาอีกว่า  ๕ มาสกสำหรับค่าเงินพม่า  ค่าเงินลาว  ค่าเงินศรีลังกา ฯลฯ  จะเป็นเท่าไหร่  แต่ถ้าเทียบกันตามที่พระอรรถกถาจารย์ท่านวางหลักไว้ให้  ไม่ว่ายุคสมัยใด  ค่าเงินประเทศไหน  ก็จะไม่มีปัญหาในการวินิจฉัยเลย

วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พระคึกฤทธิ์ติเตียนพระอรหันต์ในขณะที่พระศาสดาสรรเสริญพระอรหันต์


ภาพที่ทุกท่านเห็นนี้คือภาพที่พระมหาไพโรจน์  โรจนธัมโม  (วงศ์ศาไชย)  ภิกษุสาวกวัดนาป่าพง  นำมาแสดงใน FB ของข้าพเจ้า   เพื่อยืนยันว่า  พระอรหันต์คิดผิด พูดผิด ทำผิด ตามคำบอกเล่าของพระคึกฤทธิ์  โสตฺถิผโล  ซึ่งมักจะกล่าวเช่นนี้ให้สาธุชนฟังอยู่เสมอเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของตนว่า    “พระศาสดาห้ามฟังคำสาวก”        โดยการยกพระสารีบุตรและพระอรหันต์รูปอื่นๆ ขึ้นแสดง       โดยที่พระคึกฤทธิ์ฯ  ตีความเอาเองทั้งหมด เพราะไม่อ่านให้จบพระสูตร  หรืออ่านแล้วแต่มีเจตนาบิดเบือนพระสูตรข้าพเจ้าก็มิอาจทราบความในใจของท่านได้   (สำหรับหลักฐานในแต่ละเรื่อง ข้าพเจ้าจะนำเสนอในบทความต่อๆ ไป)

ในความเป็นจริงแล้ว   พระศาสดาไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะติเตียนพระสารีบุตรหรือพระอรหันต์  ในรอบสองพันกว่าปีมานี้  เห็นทีจะมีแต่พระคึกฤทธิ์และสาวกของพระคึกฤทธิ์เท่านั้นที่เพ่งโทษติเตียนพระสารีบุตรและพระอรหันต์ทั้งหลาย 

พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรหลายพระสูตร  และในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗  สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปวารณาสูตรที่ ๗ พระศาสดาก็ได้ทรงย้ำว่า  ไม่ทรงติเตียนพระสารีบุตรและพระอรหันตสาวกในกรรมซึ่งกระทำทางกายหรือวาจาของพระสารีบุตรและพระอรหันต์เหล่านั้นไม่ได้เลย

“สารีบุตร เราติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเธอไม่ได้เลย

สารีบุตร เธอเป็นบัณฑิต

สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา

สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาว่องไว เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มีปัญญาสยายกิเลสได้

สารีบุตร โอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมยังจักรอันพระราชบิดาให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบ ฉันใด

สารีบุตร เธอก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันเราให้เป็นไปแล้วให้เป็นไปตามได้โดยชอบแท้จริง ฯ

ท่านพระสารีบุตรจึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากว่าพระผู้มีพระภาค ไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกาย หรือทางวาจาของข้าพระองค์ไซร้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้บ้างหรือ ฯ

สารีบุตร เราไม่ติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา ของภิกษุ ๕๐๐ รูปแม้เหล่านี้ สารีบุตร เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ ภิกษุ ๖๐ รูป เป็นผู้ได้วิชชา ๓ อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้อภิญญา ๖ อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้อุภโตภาควิมุติ ส่วนที่ยังเหลือเป็นผู้ได้ปัญญาวิมุติ ฯ”

ดังนั้น  การติเตียนพระอรหันตสาวกของพระศาสดาจึงนับได้ว่าเป็นกรรมหนักของชาววัดนาป่าพงทุกรูป  ทุกคน  ทีเดียว  กรรมนี้เรียกว่า  “อริยุปวาทกรรม”  มีโทษเท่าอนันตริยกรรม  ห้ามสวรรค์  ห้ามนิพพานในภัทรกัปนี้กันทีเดียว  ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร  เพราะบาปกรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้กระทำจะเชื่อหรือไม่เชื่อ  กรรมนั้นให้ผลเฉพาะด้วยกฎแห่งกรรมนั้นเอง หาได้อาศัยความเชื่อของบุคคลใดไม่ 


วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ความเข้าใจผิดของพระคึกฤทธิ์ฯ เกี่ยวกับการอธิบายธรรมของพระสาวก



“ไม่ต้องแก้ครับ  ไม่ต้องคิดว่าเรามีไอเดียที่ดีมาขยายความอะไรครับ  ไม่ต้องครับ” 

คำพูดของพระคึกฤทธิ์นี้  เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระวัดเนินพระแสดงความคิดเห็นถึงถึงหน้าที่ในการอธิบายความ ขยายความของพระอรรถกถาจารย์  และอธิบายให้ท่านคึกฤทธิ์ทราบถึงการอธิบายขยายความ ซึ่งไม่ใช่การบัญญัติธรรมใหม่เพิ่มเติมธรรมที่พระตถาคตตรัสไว้ดีแล้ว 

แต่พระคึกฤทธิ์ฯ กลับไม่ยอมเข้าใจ  และยังยืนยันกลับไปว่า  พระสาวกไม่มีหน้าที่ขยายความ แต่จะต้องกล่าวคำพระพุทธเจ้าทุกคำชนิดก๊อปปี้มา  !!!!!

พระสาวก ไม่จำเป็นต้องอธิบายธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างที่พระคึกฤทธิ์ว่าไว้ จริงหรือ ?

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดแล้วทุกครั้ง จึงไม่จำเป็นต้องฟังคำอธิบายจากสาวกตามที่พระคึกฤทธิ์กล่าว จริงหรือ ?

ตอบ   ไม่จริงเลย เราพบในพระไตรปิฎกหลายพระสูตรที่พระสาวกจะเป็นผู้อธิบายธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร และพระพุทธองค์มิได้ทรงแสดงธรรมโดยพิสดารในทุกๆ ครั้ง ในบางครั้งทรงแสดงธรรมโดยย่อ เพียงยกหัวข้อขึ้นแสดงเท่านั้น ภิกษุในครั้งพุทธกาลจึงจำเป็นต้องอาศัยพระสาวกของพระพุทธองค์ให้อธิบายธรรมโดยพิสดาร (โดยละเอียด) การที่พระพุทธองค์ทรงยกเฉพาะหัวข้อขึ้นแสดงนี้ ก็เพื่อเป็นการเปิดทางให้สาวกของพระองค์ได้แสดงธรรม อธิบายธรรม ด้วยทรงเล็งเห็นว่า พระพุทธศาสนาที่พระองค์ประกาศนั้น จะสามารถเผยแผ่และตั้งมั่นอยู่ได้ ก็ด้วยอาศัยพระสาวกของพระองค์นั่นเอง

พระมหากัจจายนะ เอตทัคคะผู้เลิศในการอธิบายธรรมโดยย่อให้พิสดาร ได้ชื่อว่าเป็น "พระอรรถกถาจารย์"

"ดูกรท่านพระกัจจายนะผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ตรัสบอก ทรงให้เป็นไป ทรงแสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็นโดยแท้ ก็และกาลนั้นเป็นการควรแก่พระผู้มีพระภาคที่กระผมทั้งหลายเข้าไปเฝ้าแล้ว พึงทูลถามอรรถอันนั้น พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงพยากรณ์ด้วยประการใด กระผมทั้งหลายพึงทรงจำอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้น ก็แต่ว่าท่านพระมหากัจจายนะพระศาสดาทรงสรรเสริญและเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่อง ท่านพระมหากัจจายนะย่อมสามารถเพื่อจำแนกอรรถแห่งอุทเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ได้ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ขอท่านพระมหากัจจายนะไม่ทำความหนักใจแล้ว จงจำแนกเถิด ฯ"

เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้ฟังคำอธิบายของพระมหากัจจายนะแล้ว มีความปิติยินดียิ่ง ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเล่าให้ฟังถึงการแสดงธรรมของพระมหากัจจายนะ ดังนี้

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านั้นแลได้มีความเห็นร่วมกันว่า ท่านพระมหากัจจายนะนี้แล พระศาสดาทรงสรรเสริญ   

และเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่อง ท่านพระมหากัจจายนะคงสามารถเพื่อจำแนกอรรถแห่งอุเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ 

ไฉนหนอ เราทั้งหลายพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วพึงถามอรรถข้อนั้นกะท่านพระมหากัจจายนะเถิด 

ท่านพระมหากัจจายนะจักพยากรณ์แก่เราทั้งหลายด้วยประการใด 
เราทั้งหลายจักทรงจำอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้น ดังนี้ 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญลำดับนั้นแล ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้ถามอรรถข้อนั้นกะท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหากัจจายนะได้จำแนกอรรถด้วยดีแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้พระเจ้าข้า ฯ

พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะและยืนยันในคำอธิบายของพระมหากัจจายนะ เพื่อให้ภิกษุมั่นใจว่า พระสาวกก็สามารถอธิบายธรรมได้ดุจเดียวกับพระองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดีแล้ว ดีแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหากัจจายนะเป็นบัณฑิต มหากัจจายนะเป็นผู้มีปัญญามาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้หากเธอทั้งหลายพึงเข้ามาหาเราแล้วถามอรรถ
ข้อนั้น แม้เราพึงพยากรณ์อรรถข้อนั้นอย่างที่มหากัจจายนะพยากรณ์แล้วนั้นแหละ นั่นเป็นอรรถแห่งอุเทศนั้น และเธอทั้งหลายพึงทรงจำอรรถนั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖
อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต