วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พุทธวจน อ่านว่า พุด ทะ วะ จน ไม่ใช่ พุด ทะ วะ จะ นะ

เช้าวันนี้ สมาชิกส่งลิงค์การถกเถียงเรื่อง คำว่า พุทธวจน ที่วัดนาป่าพงใช้มาให้ดู เมื่อตามไปอ่านแล้วขบขันสาวกวัดนาป่าพงท่านหนึ่งที่เถียงคอเป็นเอ็นในฐานะเป็น "กูรู้" (มิใช่กูรู) หนำซ้ำอ้างว่าตนไปถามมหาเปรียญและอนุศาสนาจารย์มาแล้วว่า พุทธวจน เป็นภาษาบาลี จึงไม่อ่านตัวสะกดว่า ว จน  เมื่อเจ้าของบทความได้ถามหาศัพท์ตามพจนานุกรม สาวกวัดนาป่าพงก็ไปนำพจนานุกรมมาให้ดู ในพจนานุกรม เขียนว่า “วจน” อ่านว่า “วจนะ” มีสระอะที่ “น”  เป็นอันชัดเจนว่า ลัทธินี้เขียน พุทธวจน ไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าอ่านแล้วก็งง สาวกลัทธินี้อุตส่าห์หาหลักฐานมายันความผิดของตนเอง  ที่ถูกต้องเขียนว่า พุทธวจนะ

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=833777413342194&id=100001298280779&comment_id=835540756499193&notif_t=feed_comment_reply&hc_location=ufi





ชัดเจนว่า พจนานุกรมที่สาวกท่านนี้แค็ปมา วจน (บาลีอักษรไทย) วจนะ (คำอ่านบาลีอักษรไทย) และยังมีการอธิบายถึงหลักการแปลง ว เป็น พ ตามหลักการแปลงบาลีเป็นไทยอีก วจนะ จึงแปลงเป็น พจน์ 



ภาษาบาลีนั้นเป็นภาษาที่ไม่มีตัวอักษร มีแต่เสียง ดังนั้น ถ้าภาษานี้ไปอยู่ยังประเทศไทย ประเทศนั้นก็จะเขียนอักษรตามอักษรของตน  และเพื่อให้มีความแตกต่างจากภาษาไทย จึงมีการกำกับเสียงตัวสะกดไว้ด้วยพินทุ (เครื่องหมายจุดใต้ตัวอักษร)  ในสมัยก่อนใช้ ยามักการประกอบด้วย เช่น ส๎วากฺขาโต (สะ-หวาก-ขา-โต) พ๎ราห๎มณ (พราม-มะ-นะ) 

คำว่า “พุทฺธวจน” ถ้าจะเขียนเป็นอักษรไทยแล้วให้อ่านออกเสียงเป็นบาลี จะต้องมีจุด (พินทุ) ใต้ “ท” 
การอ่านออกเสียงภาษาบาลีอักษรไทย ในกรณีคำว่า พุทฺธวจน นั้น มีหลักว่า พยัญชนะตัวหน้าคือ “พ” มีสระอุกำกับอยู่แล้ว ดังนั้น พยัญชนะตัวหลังต้องอ่านออกเสียงเป็นตัวสะกด จึงต้องอ่านว่า พุด

ถ้าเขียนแบบลัทธิวัดนาป่าพงว่า “พุทธวจน” แล้วต้องการอ่านออกเสียงบาลี จะต้องอ่านว่า พุ ทะ ธะ วะ จะ นะ เพราะในเมื่อไม่มีพินทุสะกด “ท” จะอ่านออกเสียงเป็นตัวสะกดว่า พุด ไม่ได้

ข้าพเจ้าอยากถามสาวกคนนี้ว่า เขาอ่าน "พุทธรูป" ว่าอย่างไร  อ่านว่า "พุด ทะ รู ปะ" หรือเปล่า ถ้าเขาอ่านว่า พุด ทะ รูป  แล้วทำไมเขาถึงอ่าน พุทธวจน ว่า พุด ทะ วะ จะ นะ เล่า

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า มหาเปรียญและอนุศาสนาจารย์ที่เขาไปถาม คงไม่ได้เห็นอักษรเขียนว่า "พุทธวจน" แน่นอน  สาวกสำนักนี้คงได้แต่ถามว่า พุด ทะ วะ จะ นะ เป็นภาษาไทยหรือบาลี ซึ่งแน่นอนว่าถามด้วยเสียงก็ต้องตอบว่าเป็นภาษาบาลี 

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่เป็นภาษาอะไร แต่อยู่ที่อักษรที่ใช้ในการถ่ายทอดภาษานั้นถูกต้องหรือไม่ตามหลักไวยากรณ์ 

หนำซ้ำยังกล้าบอกว่า ไม่มีใครในโลกอ่านว่า พุด ทะ วะ จน 




พุทฺธวจน มากจากศัพท์สองศัพท์คือ พุทฺธ กับ วจน  ไม่มีพจนานุกรมบาลีฉบับไหนเขียนโดยไม่ใช่จุดใต้ “ท” ยกเว้นพจนานุกูฉบับบาลีโคกอีแร้งสำนักนาป่าพง



อีกไม่นาน สำนักนี้จะเปลียนไปใช้คำว่า  “พุทธวจนํ” ซึ่งก็ผิดอีก เพราะเป็นการเขียนไทยปนบาลี ขณะนี้เห็นมีสาวกหลายคนเริ่มใช้คำนี้ในแบบที่เขียนผิดๆ แล้ว อีกหน่อยคงมีการแซวเรื่อง "พัฒนาการของบาลีโคกอีแร้งสำนักนาป่าพง" 

พุทฺธวจน เป็นศัพท์เดิม เมื่อประกอบวิภัตติแล้วสำเร็จรูปเป็น พุทฺธวจนํ  ซึ่งจะต้องนำไปใช้ในการลงรูปประโยค ถ้าจะใช้ลอยๆ เป็นคำเดียว ก็ใช้ตามศัพท์เดิมได้

ปัญหาความดื้อรั้นของลัทธินี้คือ การไม่ยอมศึกษาอะไรให้เข้าใจแล้วอนุมานเอาตามตรรกูและหลักวิชากู จนสร้างพจนานุกู อธิบายแบบง่ายๆ ชาวบ้านที่ไม่รู้อะไรก็รับไปเต็มๆ แล้วนำเผยแพร่จนองค์ความรู้ที่ถูกต้องบิดเบี้ยว  นี่คืออันตรายของพวก ชี้โดยไม่รู้  แถมด้วยมานะและอัตตาเต็มที่ว่า “กูรู้” 

กูรู้ จึงต่างจาก กูรู ดังนี้แล


ไม่มีความคิดเห็น: