วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พระสารีบุตรทูลแนะนำพระพุทธเจ้า "ผิด!!!" กับกรณีพระพุทธเจ้าแนะนำพระมหากัสสปะ





พระคึกฤทธิ์มักจะยกกรณีพระสารีบุตรทูลถวายคำแนะนำพระพุทธเจ้าแล้วพระองค์ไม่เห็นด้วยมาแสดงกับสาวกของตนเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของพระสารีบุตร โดยกล่าวหาว่าพระสารีบุตร "ผิด!!!" หลายครั้งหลายครา

แต่เรื่องที่พระสารีบุตรแนะนำให้ทำสังคายนาจำลองพระพุทธเจ้าทรงตรัสอนุโมทนาจนการสังคายนาจำลองนั้นได้เกิดขึ้นจริงหลังพุทธปรินิพพาน ให้พวกเราได้มีพระธรรมคำสอนของพระศาสดาได้ศึกษา รู้ผิด รู้ชั่ว รู้ดี มาจนทุกวันนี้ พระคึกฤทธิ์ไม่เคยพูดให้สาวกฟัง

การแนะนำใดๆ ที่พระสารีบุตรหรือพระสาวกกระทำต่อพระศาสดานั้น ไม่จำเป็นที่พระศาสดาต้องเห็นด้วย แม้แต่พระศาสดาเองทรงแนะนำให้พระมหากัสสปะให้เลิกถือธุดงควัตร แต่พระมหากัสสปะไม่เห็นด้วยกับพระศาสดาจึงไม่ยอมเลิกถือธุดงควัตร

ถ้าตรรกะของพระคึกฤทธิ์คือพระสารีบุตรทูลแนะนำ พระศาสดาไม่เห็นด้วยคือพระสารีบุตร "ผิด!!!" ตรรกะวิบัติเช่นนี้จะไม่ทำให้พระศาสดาเป็นผู้ผิดด้วยการแนะนำพระมหากัสสปะแล้วท่านไม่เห็นพ้องด้วยดอกหรือ

ดังนั้น การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของพระศาสดาในคำแนะนำของพระสาวก หรือที่พระสาวกจะการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตามคำแนะนำของพระศาสดา ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุและผลของแต่ละท่านทั้งสิ้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่พระคึกฤทธิ์จะนำความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยของพระศาสดาที่มีต่อพระสารีบุตรมาเป็นข้อชี้ว่าพระสารีบุตร "ผิด!!!"

[๔๗๙] เมื่อพระมหากัสสปนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า กัสสป บัดนี้เธอชราแล้ว ผ้าป่านบังสุกุลเหล่านี้ของเธอหนัก ไม่น่านุ่งห่ม เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงคฤหบดีจีวร จงบริโภคโภชนะที่เขานิมนต์แลจงอยู่ในสำนักของเราเถิด ฯ

ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเวลานานมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร เป็นผู้มีความมักน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย เป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษเป็นผู้สงัดจากหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดจากหมู่ เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลี เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร ดังนี้ ฯ

[๔๘๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรกัสสป ก็เธอเล็งเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไร จึงเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร สิ้นกาลนาน ฯ
เป็นผู้เที่ยวไปบิณฑบาตเป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ...
เป็นผู้มักน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ...เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ... เป็นผู้ปรารภ
ความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร ดังนี้ ฯ

[๔๘๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการ จึงอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน ฯลฯ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... มีความปรารถนาน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ...เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง ความปรารภความเพียร เล็งเห็นการอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม และอนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลังว่า ทำไฉน ประชุมชนในภายหลังพึงถึงทิฏฐานุคติว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ที่ได้มีมาแล้ว ท่านเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ อยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน ฯลฯเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ...เป็นผู้มักน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ...เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียรมาแล้วสิ้นกาลนาน ท่านเหล่านั้นจักปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ข้อปฏิบัติของท่านเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนานดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการเหล่านี้ จึงอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความอยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... มีความปรารถนาน้อย ...เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ... ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการ ปรารภความเพียรสิ้นกาลนาน ฯ


[๔๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ กัสสป ได้ยินว่า เธอปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรกัสสป เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงผ้าป่านบังสุกุลอันไม่น่านุ่งห่ม จงเทียวบิณฑบาต และจงอยู่ในป่าเถิด ฉะนี้ ฯ

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๖ - พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค 

ไม่มีความคิดเห็น: